ความเครียด (Stress) ปัญหาสำคัญที่ทุกคนต้องเจอในชีวิต
ความเครียด หรือ ภาวะเครียด เป็นการตอบสนองทางร่างกายและจิตใจต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ การตอบสนองต่อความเครียดช่วยให้มนุษย์เรารู้จักปรับตัวและรู้สึกตื่นตัว
ความเครียด หรือ ภาวะเครียด
ความเครียด หรือ ภาวะเครียด เป็นการตอบสนองทางร่างกายและจิตใจต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ การตอบสนองต่อความเครียดช่วยให้มนุษย์เรารู้จักปรับตัวและรู้สึกตื่นตัวเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรารู้สึกเครียดกับการสอบที่จะมาถึง ร่างกายของเราอาจตอบสนองต่อความเครียดนั้นโดยทำให้เรารู้สึกตื่นตัว ไม่ง่วง นั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบได้นานขึ้น อย่างไรก็ตามความเครียดอาจกลายเป็นปัญหาทางสุขภาพได้หากเราต้องเผชิญกับความเครียดเป็นเวลานาน โดยไม่มีเวลาได้หยุดผ่อนคลาย
อาการเครียด
ความเครียดเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อประสบการณ์ที่เราเผชิญ ความเครียดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ และการมองเห็นของคนเรา ระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายมีกลไก “การตอบสนองว่าจะสู้หรือจะหนี” เพื่อช่วยให้เราจัดการกับความเครียดในขณะนั้น อย่างไรก็ตามภาวะเครียดเรื้อรังจะทำให้ร่างกายเกิดการตอบสนองเช่นนี้อย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าอยู่ตลอดเวลา และอาจเริ่มแสดงอาการทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรมดังต่อไปนี้
อาการเครียดทางด้านร่างกาย
- เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นเร็ว
- นอนหลับยาก
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย กล้ามเนื้อปวดเกร็ง นอนกัดฟัน
- มีปัญหาทางระบบทางเดินอาหาร
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
อาการเครียดทางด้านจิตใจ
- รู้สึกเศร้า
- วิตกกังวล
- หงุดหงิดรำคาญ
- ซึมเศร้า
คนที่มีภาวะเครียดเรื้อรังอาจพัฒนานิสัยที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น
- พฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ
- เล่นการพนัน
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- ใช้ยาเสพติด
- ใช้เงินซื้อของตามอารมณ์
ควรไปพบแพทย์เมื่อใด
เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกเครียด แต่ควรไปพบแพทย์หากรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างท่วมท้น หรือเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติด หรือคิดจะฆ่าตัวตายหรือทําร้ายตัวเอง แพทย์สามารถให้คําแนะนําถึงวิธีการจัดการกับความเครียดจากสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญ
การตรวจวินิจฉัยภาวะเครียด
ความเครียดเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งจะรู้สึกแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ไม่สามารถตรวจวัดได้ ผลกระทบของความเครียดที่มีต่อตัวเราเป็นคำบอกเล่าของเราเองทั้งสิ้น แพทย์จึงอาจขอให้ทําแบบสอบถามเพื่อประเมินความเครียดและผลกระทบของความเครียดที่มีต่อชีวิตของเรา หากมีความเครียดเรื้อรังและเริ่มมีอาการแสดงจากจากความเครียด เช่น ความดันโลหิตสูง แพทย์จะช่วยรักษาอาการเหล่านั้น พร้อมให้คําแนะนําเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับความเครียด
การรักษาอาการเครียด
แม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเครียดได้ แต่ก็มีกลวิธีที่เราสามารถทำเพื่อช่วยให้ตัวเรารับมือกับความเครียดในแต่ละวันได้
- รับรู้ถึงความรู้สึกของตัวเอง หมั่นสังเกตตัวเองเมื่อรู้สึกเครียด หาเวลาไปออกกําลังกายเพราะการออกกําลังกายช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นได้
- ชื่นชมยินดีกับสิ่งที่เราทำสําเร็จในแต่ละวันแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
- ตั้งเป้าหมายระยะสั้นเพื่อช่วยให้รู้สึกว่าเราสามารถทําสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตให้สำเร็จลุล่วงได้
- หากรู้สึกวิตกกังวลมากเกินกว่าจะรับมือกับความเครียดได้ด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออก
การป้องกันความเครียด
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดจนมากเกินไป เราสามารถลองปฏิบัติตัวตามวิธีต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ สามารถช่วยให้ร่างกายรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น
- ฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การหายใจลึก ๆ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การนั่งสมาธิ โยคะหรือไทเก็ก
- ไม่คิดเชิงลบ หมั่นคิดบวกและขอบคุณสิ่งดี ๆ เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจําวัน
- เรียนรู้ที่จะปฏิเสธงานเพิ่มหากยุ่งหรืองานหนักเกินไป
- ทําสิ่งที่ทําให้เรายิ้มได้และเรียนรู้ที่จะยอมรับว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ดั่งใจ
- ติดต่อกับคนที่เรารัก เพื่อน หรือคนที่ทําให้เราหัวเราะได้ พวกเขาเหล่านี้สามารถเป็นแรงสนับสนุนจิตใจทำให้เราก้าวผ่านปัญหาไปได้ และทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว